วันพฤหัสบดีที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

เกร็ดน้อยๆ นิดๆ กับ “วิทยาศาสตร์” ใน "สี"

คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น
"สี" ปัจจัยที่มีผลต่อความคิด อารมณ์ และความรู้สึกของมนุษย์ โดยเกี่ยวพันกับคนเรามาแต่โบราณกาล(ภาพจาก www.elpacocoatings.com)

ศ.ดร.ศักดา ศิริพันธุ์ จากสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ

หลับตานึกถึง "กล่องดินสอสี" ขึ้นมาทีไร หลายคนคงคิดถึงแท่งสีวางเรียงอยู่ในกล่องได้แบบไม่ต้องใช้เวลานาน แต่กว่าเราจะได้สีแต่ละแท่งมาได้นั้น มีต้นกำเนิดมาอย่างไร และเกี่ยวพันกับวิทยาศาสตร์แค่ไหน น้อยคนนักที่จะรู้ ศ.ดร.ศักดา ศิริพันธุ์ จากสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ จะช่วยหาคำตอบ !!

ศ.ดร.ศักดา เล่าระหว่างบรรยายในหัวข้อ "วัฒนธรรมเกี่ยวกับสี" ว่า สีเป็นสิ่งที่คนเราคุ้นเคยมานานแล้ว เป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อคนเราทุกคนและในทุกวิชาชีพมาทุกยุคทุกสมัย ทั้งแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย ตลอดจนชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน ที่ต้องใช้สีเพื่อการสื่อสารไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ศ.ดร.ศักดา เล่าว่า ก่อนที่เราจะมีเฉดสีต่างๆ ให้เลือกสรรกันใช้แบบไม่อั้นในปัจจุบัน สามารถย้อนไปไกลถึง 15,000 ปีที่แล้วในยุคก่อนประวัติศาสตร์ โดยภาพเขียนสีแรกๆ พบอยู่ในถ้ำลาสโคช์ (Lascaux) ประเทศฝรั่งเศส โดยสีที่คนเรารู้จักนำมาใช้มี 2 ชนิด คือ “เม็ดสี” (pigment) ซึ่งเป็นสารอนินทรีย์ เช่น หินสีในบริเวณใกล้กับเทือกเขาแอลป์ และอีกชนิดที่ได้จากสารอินทรีย์คือ “สีย้อม” โดยมีการใช้งานมานานกว่า 6,000 ปี อียิปต์เป็นชาติเก่าแก่ที่รู้จักการใช้สีเพื่อจารึกและบอกเล่าประวัติศาสตร์มากว่า 3 สหัสวรรษ

ส่วนนักวิทยาศาสตร์คนแรกที่สังเกตและศึกษาปรากฏการณ์ของสี คือ อริสโตเติล ซึ่งเป็นทั้งนักปราชญ์คนสำคัญที่มีอายุเมื่อ 300 ปีก่อนคริสตกาล โดยเขาค้นพบว่าสีเกิดจากการดูดกลืนและสะท้อนของแสงตามหลักวิทยาศาสตร์ ก่อนที่จะมีผู้สนใจอื่นๆ ร่วมศึกษาเรื่องสีด้วย เช่น ลีโอนาร์โด ดาวินซี ศิลปินชื่อก้อง ผู้บัญญัติศัพท์ “ความสว่าง” (Bright) และ “ความต่างสี” (Contrast) ไว้คู่กับวงการศิลปกรรมเมื่อราวศตวรรษที่ 15

จากนั้นนักวิทยาศาสตร์ระดับตำนานอย่างเซอร์ไอแซค นิวตัน ก็ค้นพบว่า เมื่อแสงสีขาวเดินทางผ่านแท่งปริซึมจะแยกได้เป็นแสงสีรุ้ง 7 สี พร้อมให้ความเห็นว่า สีเป็นเรื่องราวของความรู้สึก และแสงประกอบด้วยอนุภาคเล็กๆ มากมาย โดยผู้ให้กำเนิดวงล้อสีที่รู้จักกันดี คือ โยฮันน์ โวล์ฟกัง ฟอน เกอเธ่ นักปรัชญาผู้ให้กำเนิดทฤษฎีแม่สีอันประกอบด้วยสีเหลือง สีแดง และสีน้ำเงิน

ต่อมา โทมัส ยัง นักวิจัยอีกรายก็ได้ค้นพบปรากฏการณ์แทรกสอดของสีขึ้น ดังที่เราจะเห็นได้เมื่อผิวฟองสบู่หักเหกับแสง อีกทั้งเขาร่วมกับเพื่อนยังค้นพบหลักการเห็นสีของตา ซึ่งในเวลาต่อมามีนักวิจัยกลุ่มหนึ่งศึกษาต่อเพื่อพิสูจน์สมมติฐานนี้จนพบ ว่าเป็นความจริง และได้รับรางวัลโนเบลในเวลาไม่นาน

ขณะที่ในฟากการแพทย์ที่เกี่ยวกับสีก็มีเช่นกัน เมื่อแพทย์ชาวญี่ปุ่นได้ประดิษฐ์แผ่นภาพทดสอบตาบอดสีขึ้นเพื่อตรวจภาวะบอดสี จากนั้นเมื่อขึ้นศตวรรษที่ 19 วงการอุตสาหกรรมก็ผลิตสีสังเคราะห์ใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยใช้กระบวนการทางเคมีกับสารอินทรีย์จากพืช จนได้เฉดสีต่างๆ เพิ่มขึ้นทุกขณะ จนบัญญัติเป็นชื่อสีที่มีความเฉพาะตัวได้นับหมื่นๆ เฉดสีในปัจจุบัน และเกิดระบบสีขึ้นเป็นครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา คือระบบมันเชลล์เมื่อราว 100 ปีก่อน

อย่างไรก็ดี สำหรับประเทศไทยเอง สีก็มีความสำคัญทีเดียว โดยเฉพาะกับงานจิตรกรรม ซึ่งเกี่ยวพันกับภูมิปัญญา และวัฒนธรรมดั้งเดิมของไทย โดยได้มีการจัดทำระบบสีไทยไว้แล้ว

ศ.ดร.ศักดา เล่าว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2524 เมื่อครั้งงานบูรณะภาพจิตรกรรมฝาผนังในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว โดย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริให้ช่างศิลป์ไทยระบายแถบสีต่างๆ ทีมีชื่อไทย เช่น นวลจันทร์ เมฆคราม เขียวขาบ ดอกตะแบก แดงชาด ฯลฯ และถ่ายภาพแถบสีนั้นไว้แล้วตีพิมพ์เผยแพร่เพื่ออนุรักษ์ลักษณะสีที่มีชื่อ ไทยไว้ ไม่ให้สูญหายตามกาลเวลา

พระราชประสงค์ดังกล่าว ศ.ดร.ศักดา กล่าวว่า การรวบรวมครั้งนั้นจึงเรียกได้ว่าเป็นการจัดมาตรฐานสีที่มีชื่อไทยเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ก็ว่าได้ เพราะที่ผ่านมา ช่างศิลป์ไทยแต่ละคนมักจดจำลักษณะสีแต่ละสีไว้ในใจตัวเอง โดยไม่มีการจดบันทึก แต่เมื่อนำสีของแต่ละคนมาเปรียบเทียบกันแล้ว กลับได้สีที่มีลักษณะแตกต่างกันออกมา

อย่างไรก็ดี จากการจัดระบบสีครั้งนั้น ศ.ดร.ศักดา เล่าว่า ยังได้มีการนำสีของไทยที่ได้ 50 เฉดสีในครั้งนั้นไปเทียบกับระบบสีมันเชลล์ในปี พ.ศ.2535 ด้วย โดยหวังว่าลักษณะสีของไทยจะเป็นที่รู้จักของนานาชาติมากขึ้น และสามารถสื่อสารกันได้อย่างถูกต้องในวงการธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ เช่นในวงการอัญมณี ที่สีของอัญมณีมีผลต่อคุณภาพและราคาของอัญมณีมาก โดยเฉพาะอัญมณีไทยที่มีเฉดสีแบบดีพเรด (deep red) ซึ่งเป็นที่ต้องการมากในตลาดยุโรป

สำหรับการสัมมนาวิชาการ “วัฒนธรรมเกี่ยวกับสี” จัดขึ้นโดยคณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาปรัชญา สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และมหาวิทยาลัยศรีนครินมทรวิโรฒ ประสานมิตร (มศว) ระหว่างวันที่ 1- 2 มิ.ย. ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ เพื่อต้องการรวบรวมความรู้เกี่ยวกับสีที่เกี่ยวเนื่องกับวัฒนธรรมไทยในหลาก หลายแง่มุม ก่อนกำหนดแผนวิจัยเกี่ยวกับสีตามลำดับ เพื่อให้ได้องค์ความรู้ที่นำไปใช้ในแวดวงธุรกิจและอุตสากรรมต่อไป

ขอบคุณแหล่งที่มา/http://www.manager.co.th


car-racing-games
halloween-games-for-kids
play-steam-games-without-installing-steam
web-games
fun-online-games
games-to-download
the-guy-game
cheap-wii-games
free-online-trivia-games
jurassic-park-online-games

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น